ถ้ำภูสิงห์
ถ้ำภูสิงห์
อดีตจากส้นรอยพระพุทธบาทลงเนินหินไปบริเวณนั้นจะมีถ้ำตื้นถ้ำหนึ่งเป็นชงอนหินสำหรับพระธุดงค์ และผู้ปรารถนาความหลุดพ้น ที่ได้เดินทางมากราบรอยพระพุทธบาทและอาศัยถ้ำชงอนหินนั้นเป็นที่บำเพ็ญบารมีญาณ ในอดีตกาลบริเวณหน้าถ้ำนั้นจะมีรูปสลัก เป็นรูปสิงห์ ๒ ตัวยืนเฝ้าอยู่หน้าถ้ำ ขนาดไม่ใหญ่นัก ปัจจุบันได้มีการเคลื่อนย้ายจไปไว้ที่วัดโคกตาล ตำบลโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
ประวัติการค้นพบรอยพระพุทธบาทภูสิงห์
ตอนบ่ายของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2526 วันนั้นเป็นวันพระขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งวันนี้จะมีญาติโยมไปทำบุญที่วัดกันพอประมาณ เมื่อถวายภัตตาหารเพลเสร็จ ทุกคนที่ไปทำบุญทานอาหารกลางวันกันเรียบร้อยแล้ว แม่ชีมากกับแม่ชีเผียะ เอ่ยปากชวนญาติโยมไปทำบุญพากันถือไม้กวาดเพื่อกวาดลานวัด ซึ่งเป็นพื้นหินธรรมชาติกว้างพอประมาณ
ขณะที่ทุกคนพากันกวาดจนเหนื่อยเมื่อยล้าและนั่งพักที่ใต้ร่มไม้นั้นเอง แม่ชีมากวัย 70 ปีเศษ ไม่ยอมหยุดพัก ได้ตั้งใจกวาดใบไม้ด้วยความเพลิดเพลิน บังเอิญสายตาก็เหลือบไปเห็นรอยเท้าประหลาดที่ปรากฏบนลานหิน จึงได้เรียกทุกคนให้มาดู ก็เห็นเป็นอัศจรรย์และได้พากันไปนมัสการ ให้หลวงพ่ออ้วน ธัมมวโร เจ้าอาวาสและพระเณรที่มาอยู่จำพรรษา ณ วัดบนลูกเขาแห่งนั้นรับทราบ เมื่อทุกคนได้ประจักษ์แก่สายตาของตัวเองและเห็นอัศจรรย์อย่างยิ่งแล้ว ได้พากันนำดอกไม้มากราบไหว้ด้วยความศรัทธายิ่งนัก
ข่าวการค้นพบรอยพระพุทธบาทได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จึงมีพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลได้พากันหลั่งไหลมานมัสการแทบทุกวัน ระยะนั้นกิ่งอำเภอภูสิงห์ยังขึ้นอยู่กับอำเภอขุขันธ์ เพิ่งแยกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอในปี 2534 ขณะนั้นทางนายอำเภอขุขันธ์ พร้อมด้วยท่านศึกษาธิการอำเภอและหน่วยงานทางราชการส่วนอื่นๆ ได้พากันไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นอัศจรรย์ตามคำเล่าลือ จึงได้รายงานไปยังจังหวัดศรีสะเกษให้ทราบ จังหวัดได้รายงานต่อไปยังกรมศิลปากร กรมศิลปากรก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกมาตรวจสอบ และได้แจ้งผลการตรวจสอบให้อำเภอได้ทราบตั้งแต่บัดนั้น
ในปีต่อๆ มา ได้มีผู้มีจิตศรัทธาจากต่างจังหวัด ได้นำผ้าป่ามาทอดที่วัดพระพุทธบาทภูสิงห์แทบทุกปี และได้ปัจจัยเหล่านั้นก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ปีงบประมาณ 2538 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้อนุมัติงบประมาณ 1,400,000 บาท ก่อสร้างถนนจากหมู่บ้านศาลา ขึ้นไปยังวัดพระพุทธบาทภูสิงห์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่จะไปแสวงบุญในเวลาต่อไป
นอกเหนือจากรอยพระพุทธบาท ซึ่งตั้งอยู่ย่านพนมสิงห์แห่งนี้แล้ว ยังปรากฏหลักฐานว่าเป็นเมืองแห่งความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนและเป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา ดังหลักฐานทางโบราณวัตถุเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ รูปปั้นพระสิวลี ใบเสมา และบัลลังก์หิน ที่วัดตะเคียนราม วัดบ้านโคกตาล และแถบบริเวณกิ่งอำเภอภูสิงห์อีกหลายแห่ง
คำนมัสการรอยพระพุทธบาทภูสิงห์
มะยัง อิมานิ ทีปะทูปะ ปุปผะวะรานิยา
สิงหะคีรียาฐิตัง พุทธะปาทะวะลัญชัง อภิปูเชมะ
อัมหากัง พุทธะปาทะวะลัญชัสสะปูชา ทัฆะรัตตัง
หิตะ สุขาวะหาโหตุ อาสะวักขะยัปปัตติยา
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมบูชา ซึ่งรอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานอยู่บนเขาภูสิงห์ ด้วยธูปเทียนและดอกไม้ อันประเสริฐเหล่านี้ กิริยาที่บูชาแด่รอยพระพุทธบาทนี้ จงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ จงเป็นไปเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสเทอญ